วันพุธที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2551

longlife education


วิสัยทัศน์ปรัชญาการศึกษาไทย

การศึกษาที่พึงประสงค์ของไทย

คือการศึกษาในระบบเปิดที่เปิดโอกาสให้คนทุกคนได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง เพื่อให้การศึกษาเป็นประโยชน์ต่อบุคคลในการพัฒนาตนเองและครอบครัว พัฒนาอาชีพและการงาน พัฒนาชุมชนประเทศชาติ และพัฒนาสิ่งแวดล้อม คนไทยยุคใหม่จะต้องมีคุณธรรม ความรู้ความสามารถและทักษะของคนในสังคมสมัยใหม่บนพื้นฐานความเป็นไทยอย่างมั่นคง
“ลักษณะของคนไทยที่เป็นเป้าหมายของการศึกษา” คือเป็นคนไทยที่พึงประสงค์
4 ด้าน ด้านปัญญา ประกอบด้วย มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ มีความคิดความเห็น มีทักษะพื้นฐาน มีความรู้ความสามารถและทักษะในการดำรงชีวิต ด้านคุณธรรมจริยธรรม ประกอบด้วย มีความเจริญงอกงามทางคุณธรรม มีจริยธรรม เข้าใจศาสนธรรม ด้านความสามารถทางสังคม ประกอบด้วย ทักษะในการติดต่อสื่อสาร มีความเป็นสากลและความเป็นไทยในตัว เปิดใจรับโลกใหม่แต่ผูกพันกับวิถีไทย ด้านความสามารถในการทำงาน ประกอบด้วย มีความรู้ความสามารถและทักษะในการทำงาน มีอุดมคติและจุดมุ่งหมายในการทำงาน รับผิดชอบรอบคอบเสียสละ
“การศึกษาที่พึงประสงค์ของไทย” มีลักษณะสำคัญ 4 ประการ ประกอบด้วย การเรียนรู้เพื่อรู้ เพื่อทำ เพื่อเป็น เพื่ออยู่ร่วมกัน โดยจัดการศึกษาได้หลายลักษณะ ได้แก่ การศึกษาระบบเปิด การศึกษาตลอดชีวิต การศึกษาหลากหลายรูปแบบ การศึกษาที่มีความทันสมัย การศึกษาที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ เน้นคุณธรรมคู่กับความสามารถ เน้นการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาหลากหลายและการศึกษาเพื่อความเป็นไทยบนพื้นฐานความเป็นไทย
การศึกษาตลอดชีวิต(lifelong education) เป็นแนวความคิดที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการศึกษาในปัจจุบัน ซึ่งแท้จริงแล้วแนวคิดการศึกษาตลอดชีวิตมิใช่เรื่องใหม่ แต่มีมานานแล้วในคัมภีร์กุรอานมีคำสอนว่า “บุคคลพึงเรียนรู้ตั้งแต่อยู่ในเปลถึงหลุมฝังศพ (From cradle to grave) หรือจากครรภ์มารดาถึงสุสาน(From womb to tomb)” คอมินิอุส (Comenius) นักศึกษาในสมัยนั้นได้พูดถึงรายละเอียดของกระบวนการศึกษาตลอดชีวิตว่าควรจัดให้มีโรงเรียนสำหรับทุกคน กล่าวคือโรงเรียนสำหรับทารกแรกเกิด เด็กก่อนวัยเรียน เด็กเยาวชนวัยเรียน คน หนุ่มสาว และคนชรา ซึ่งสอดคล้องกับจอห์น ดุย (Model - Anonevo. 2001) ที่กล่าวว่า เมื่อชีวิตมีการเปลี่ยนแปลง การศึกษาก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับชีวิตคน นอกจากนี้องค์การยูเนสโก(UNESCO) ก็ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาตลอดชีวิตนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 เป็นต้นมา โดยในปี 1970 ได้เลือกการศึกษาตลอดชีวิตให้เป็นเรื่องหลักในการนำไปสู่องค์ความรู้ และในปี 1972 ก็ได้เสนอให้การศึกษาตลอดชีวิตเป็นแนวคิดหลักสำหรับการวางนโยบายทางการศึกษาที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนามนุษย์และสังคมให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของทุกประเทศทั่วโลก ดังที่เอ็ดการ์ แฟร์ (Edgar Faure) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของประเทศฝรั่งเศสได้ให้แนวคิดสรุปว่า การศึกษาตลอดชีวิตเท่านั้นที่จะทำให้คนเป็นคนที่สมบูรณ์ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. 2542)